ผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

มาตรา 237

มาตรา 237 ระบุว่า "ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง"[8]

เนื้อหาคล้ายคลึงกับมาตรานี้มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 (มาตรา 63) แต่พรรคไทยรักไทยไม่เคยมีแนวคิดที่จะแก้ไข จนกระทั่งมีเหตุการณ์อันอาจนำไปสู่การยุบพรรค[9]

มาตรา 309

มาตรา 309 ระบุว่า "บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"[8]

ผลของการยกเลิกมาตรา 309 อาจทำให้บรรดาผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือถูกลงโทษทางการเมืองในช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ร้องต่อศาลว่าคำสั่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป อันอาจส่งผลให้การตรวจสอบหรือการกระทำหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่ชอบด้วย คดีทั้งปวงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว อาจถูกระงับโดยไม่ต้องดำเนินการต่อ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าตามประเพณีที่ผ่านมา ศาลยอมรับบรรดาคำสั่งของคณะปฏิวัติรัฐประหารให้เป็นกฎหมายใช้บังคับ มีศักดิ์ศรีเทียบเท่าพระราชบัญญัติ จึงต้องยกเลิกโดยรัฐสภา[9]